วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2562

พบส่วนหางของไดโนเสาร์มีขน ในก้อนอำพันเก่าแก่ 99 ล้านปี

พบส่วนหางของไดโนเสาร์มีขน ในก้อนอำพันเก่าแก่ 99 ล้านปี

วารสาร Current Biology ตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบส่วนหางของไดโนเสาร์ขนาดเล็กจากยุคมีโซโซอิก ซึ่งติดอยู่ในก้อนอำพันเก่าแก่ 99 ล้านปี ซึ่งได้จากเมืองมิตจินาในรัฐคะฉิ่นของเมียนมา โดยส่วนหางนี้ยังมีขนติดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงการจัดเรียงตัวของขนไดโนเสาร์ซึ่งยังคงเป็นปริศนาอยู่ก่อนหน้านี้
ก้อนอำพันดังกล่าวค้นพบโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยด้านธรณีวิทยาของจีนในกรุงปักกิ่ง โดยพบในตลาดแห่งหนึ่งของรัฐคะฉิ่นซึ่งเป็นแหล่งผลิตอำพันที่มีชื่อเสียงของเมียนมามายาวนาน ซึ่งก้อนอำพันดังกล่าวถูกเจียระไนให้กลมเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว แต่ชิ้นส่วนไดโนเสาร์ด้านในซึ่งผู้ค้านึกว่าเป็นซากพืชยังไม่ได้รับความเสียหายจากการตรวจสอบ พบว่าเป็นส่วนหางของไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กเท่ากับนกกระจอก โดยขนที่พบเรียงตัวอย่างสมบูรณ์ในลักษณะสามมิติ มีสีน้ำตาลที่ส่วนปลายและมีสีขาวที่ด้านใน นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าส่วนหางที่พบนี้เป็นซากของไดโนเสาร์และไม่ใช่ซากของนกโบราณอย่างแน่นอนเพราะมีโครงสร้างแตกต่างกัน ทั้งยังพบว่ามีของเหลวอยู่ในซากหางนี้ด้วย ซึ่งแสดงว่าไดโนเสาร์ตัวนี้อาจจมลงในน้ำยางเหนียวของต้นไม้ที่กลายเป็นอำพันทั้งที่มันยังมีชีวิตอยู่การค้นพบส่วนหางของไดโนเสาร์ในก้อนอำพันนี้ จะช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยามีความเข้าใจถึงการจัดเรียงตัวของขนไดโนเสาร์มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ไม่สามารถทราบถึงข้อมูลในประเด็นดังกล่าวได้ เพราะซากฟอสซิลส่วนใหญ่พบในดินตะกอนที่กลายเป็นหิน ซึ่งจะทำให้แนวขนที่ติดอยู่แบนราบเปลี่ยนไปจากทรงเดิม



ทีเรกซ์ไม่ใช่สัตว์หัวร้อน เพราะมี “เครื่องปรับอากาศ” ในกะโหลกศีรษะ

ทีเรกซ์ไม่ใช่สัตว์หัวร้อน เพราะมี “เครื่องปรับอากาศ” ในกะโหลกศีรษะ
แม้จะมีรูปร่างใหญ่โตและหน้าตาดุร้ายน่ากลัว แต่ไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทแรนโนซอรัส เรกซ์ หรือ "ทีเรกซ์" ที่เรารู้จักกันดี คงจะไม่ใช่สัตว์ที่มีอารมณ์พลุ่งพล่านหรือหัวร้อนโกรธเกรี้ยวอยู่ตลอดเวลาเป็นแน่ เพราะล่าสุดมีการค้นพบว่า ช่องโหว่ขนาดใหญ่ 2 รูในกะโหลกศีรษะส่วนบนของมัน สามารถทำหน้าที่เป็น "เครื่องปรับอากาศ" ช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายได้เป็นอย่างดี
ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิสซูรีและมหาวิทยาลัยฟลอริดาของสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาเรื่องนี้ในวารสาร The Anatomical Record โดยระบุว่าภายในรูโหว่คู่ดังกล่าวเต็มไปด้วยเส้นเลือดฝอยที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเข้าใจไปว่าเป็นรูสำหรับโยงกล้ามเนื้อส่วนกรามที่ช่วยการบดเคี้ยวในปาก
ดร. เคซีย์ ฮอลลิเดย์ หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์หรือสัตว์ที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน ล้วนต้องมีกลไกควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เพื่อกักเก็บความร้อนหรือระบายความร้อนออกไป เพื่อไม่ให้อุณหภูมิภายในตัวสะสมจนพุ่งสูงหรือลดต่ำลงจนถึงขั้นเป็นอันตราย
ทีมวิจัยของดร. ฮอลลิเดย์ ได้ใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพด้วยความร้อนกับจระเข้ตีนเป็ดหรือแอลลิเกเตอร์จำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกเลี้ยงอยู่ในฟาร์มที่รัฐฟลอริดา เพื่อศึกษาเรื่องการถ่ายเทความร้อนบริเวณกะโหลกศีรษะของมัน เนื่องจากแอลลิเกเตอร์ก็มีรูใหญ่ตรงส่วนดังกล่าวเช่นเดียวกับทีเรกซ์ซึ่งเป็นญาติที่อยู่ในสายวิวัฒนาการใกล้ชิดกัน

อาวุธนิวเคลียร์ : ฤดูหนาวนิวเคลียร์รุนแรงแค่ไหน หากมหาอำนาจยิง “นุก” ใส่กัน


หายนะจากสงครามนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกหวั่นเกรงกันมานาน เพราะหากความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจเช่นสหรัฐฯและรัสเซียดำเนินไปถึงจุดแตกหัก จนทั้งสองฝ่ายตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมดโจมตีเข้าใส่กัน อะไรจะเกิดขึ้นกับมนุษยชาติ ?
นอกจากบ้านเมืองและชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลจะถูกทำลายล้างด้วยแรงระเบิดแล้ว กัมมันตรังสีที่แผ่กระจายไปทั่ว และหมอกควันหนาทึบซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาว ที่รู้จักกันในชื่อว่า "ฤดูหนาวนิวเคลียร์" (nuclear winter) ยังลดทอนโอกาสที่มนุษย์บางส่วนจะมีชีวิตรอดและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมโลกขึ้นมาใหม่อีกครั้งด้วย
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส และมหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตโบลเดอร์ของสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องสภาพการณ์ของฤดูหนาวนิวเคลียร์ที่มีความเป็นไปได้สูงสุด โดยใช้ฐานข้อมูลและแบบจำลองคอมพิวเตอร์อันทันสมัยที่สุดในการทำนาย
ทีมผู้วิจัยระบุว่า เมื่อเกิดสงครามนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯและรัสเซียต่างใช้ "นุก" โจมตีฝ่ายตรงข้ามจนหมดคลังแสง จะเกิดหมอกควันหนาทึบจำนวนมหาศาลขึ้นไปสะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศ รวมทั้งเถ้าถ่านจากการระเบิดและเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นตามมาอีก 150 เมกะตัน ก็จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเมฆทึบปิดบังแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องลงมาถึงพื้นโลกได้เต็มที่

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2562

วายแอลจี บูลเลี่ยนฯ รายงานราคาทองคำ วันที่ 4 ก.ย. 2562


สรุป ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.97 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับหนุนจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ (1) ความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ หลังภาษีนำเข้ารอบใหม่ระหว่างกันเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้จีนและสหรัฐกำลังประสบความยากลำบากในการกำหนดการเจรจาการค้า
ขณะที่วานนี้ปธน.ทรัมป์ ทวีตกดดันจีนว่า ให้รีบทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ ไม่อย่างนั้นจะยิ่งลำบากมากขึ้นหากเขาชนะการเลือกตั้งในปีหน้าอีกสมัย (2) ความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐ หลังจาก ISM ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 49.1 ในเดือน ส.ค. ซึ่งหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2016 สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงจนกดดันให้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 285.26 จุด พร้อมกับกระตุ้นแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยในวงกว้างทั้งเงินเยน, พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมไปถึงทองคำ
ส่วนความคืบหน้าล่าสุดของ Brexit วานนี้พรรคฝ่ายค้านของอังกฤษประสบความสำเร็จในการลงมติเข้าควบคุมกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา ทำให้วันนี้จะมีการอภิปรายร่างกฎหมายป้องกัน Brexit โดยปราศจากข้อตกลงซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่มขึ้น +11.73 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผย Beige Book ของสหรัฐ

SCC ผนึก"ดาว"ศึกษาพัฒนาโซลูชั่นรีไซเคิลพลาสติกเสร็จภายในปีนี้ก่อนเดินหน้าตั้งรง.ในไทยหนุนพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน



นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า วันนี้ (6 ก.ย.) เอสซีจี และบริษัท ดาว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระดับโลก ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ในการรีไซเคิลพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อนำไปสู่การร่วมจัดตั้งโรงงานรีไซเคิล ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สำหรับพลาสติกในประเทศไทย

ทั้งนี้ การศึกษาจะเป็นไปใน 2 รูปแบบ ได้แก่ เทคโนโลยีและกระบวนการด้านการรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical Recycling) ซึ่งจะเป็นการนำขยะพลาสติกเก่ากลับมาหลอมเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งโรงงานรีไซเคิลในประเทศส่วนใหญ่จะดำเนินการในลักษณะนี้ ส่วนรูปแบบที่ 2 เป็นเทคโนโลยีและกระบวนการด้านการรีไซเคิลด้วยกระบวนการทางเคมี (Chemical Recycling) ซึ่งเป็นการรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบ (Feedstock Recycling) ซึ่งจะใช้หมุนเวียนมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ (Renewable Feedstock) โดยกระบวนการนี้จะทำให้สามารถได้วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติเหมือนกับสารตั้งต้นอื่น ๆ ที่ใช้ในปัจจุบันสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติก

ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะจัดการปัญหาพลาสติกใช้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งเป็นโซลูชั่นเพื่อการรีไซเคิล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย

"สิ่งที่เราคุยกันนี้จำเป็นต้องมีการลอง หลังจากลองแล้วก็จะต้องพยายามดูว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไหม สำคัญที่สุดในเรื่อง handel west หรือ west management เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ west มาอย่างไร และมีการคัดแยกอย่างไร เพื่อให้ process ในการทำมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด คิดว่า MOU วันนี้แสดงให้เห็นถึง commitment ของ 2 องค์กร ในการที่จะรีบศึกษาและรีบที่จะดูว่ามีวิธีอะไรบ้างที่จะถือเป็น option ของเราที่จะ contribute ในเรื่องของ Circular Economy เรื่องของ west management การศึกษาก็คาดว่าจะใช้เวลาเป็นหลักเดือน น่าจะได้ผลการศึกษาอย่างเร็วและน่าจะได้เริ่มต้น"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินการไปสู่การจัดตั้งโรงงานนั้น ก้จะต้องศึกษาเรื่องของวัตถุดิบ ซึ่งจะต้องพิจารณาในพื้นที่เป็นหลักว่ามีขยะพลาสติกประเภทใดบ้าง และเทคโนโลยีของดาวเหมาะกับการนำพลาสติกประเภทใดที่จะเอาเข้าสู่ระบบ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการครั้งนี้ยังต้องการความสนับสนุนจากภาครัฐใน 4 เรื่องเพื่อจะผลักดันให้โครการดำเนินการต่อไปได้ ประกอบด้วย การบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานขยะพลาสติก เพราะปัจจุบันระบบสาธารณูปโภคของไทยไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่การคัดแยก การจัดเก็บ แม้เอกชนจะสามารถดำเนินการเองได้ส่วนหนึ่งแต่ก็ยังไม่เพียงพอยังมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย , การบังคับใช้และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขยะให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

การให้สิ่งจูงใจให้ภาคเอกชนเพื่อให้ออกแบบสินค้าที่จะสามารถรีไซเคิลได้ง่าย มีกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการขยะ และรัฐบาลควรให้ความรู้ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีความตระหนักในเรื่องดังกล่าวด้วย

ด้านนายจิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างดาว และเอสซีจี ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสององค์กรในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติก เพื่อลดปริมาณการรั่วไหลของพลาสติกไปสู่สิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันขยะพลาสติกในทะเลทั่วโลกมีประมาณ 8 ล้านตัน/ปี ตามสถิติในไทยมีขยะถูกทิ้งในทะเลประมาณ 1 ล้านตัน/ปี การที่จะดำเนินโครงการที่จะสามารถนำขยะเหล่านี้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าได้อย่างน้อย 2-3 แสนตัน/ปีจะเป็นขนาดโรงงานที่มีความคุ้มทุน แต่ในช่วงเริ่มต้นคงจะเริ่มที่ 2 หมื่นตัน/ปีก่อนแล้วค่อย ๆ ขยายไปถึงระดับที่คุ้มทุน โดยการดำเนินการควรจะต้องเป็นขยะพลาสติกในประเทศเพราะไม่ต้องการให้เกิดการนำเข้าขยะพลาสติก

ทั้งนี้ แผนการดำเนินการทางกลุ่มดาว มองที่ Chemical Recycling เพราะมีเทคโนโลยีในส่วนนี้ อีกทั้งในส่วนของกลุ่มดาว และเอสซีจี ก็เป็นผู้ประกอบการพลาสติกที่มีกำลังการผลิตจำนวนมาก ซึ่งหากสามารถนำมาหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ก็จะสามารถใช้สำหรับทุกประเภทได้เลย

อนึ่ง ดาว ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของโลก เพิ่งประกาศการตั้งโรงงานรีไซเคิลแห่งแรก โดยประกาศการจัดทำข้อตกลงให้ ฟือนิกซ์ อีโคจี กรุ๊ป (Fuenix Ecogy Group) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเวียร์ต ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบประเภทน้ำมันไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil Feedstock) ที่ได้จากขยะพลาสติกรีไซเคิลให้กับโรงงานผลิตของดาวในเมืองแทร์นอยเซน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ใหม่ ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบใหม่ (Feedstock Recycling) มากขึ้น โดยนำเอาขยะพลาสติกหลากประเภทมาผ่านกระบวนการเพื่อให้กลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Polymers) โดยผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกที่ผลิตจากน้ำมันไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil) จะเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบดั้งเดิมทุกประการ จึงสามารถนำไปใช้งานแบบเดียวกันได้ รวมถึงนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารได้อย่างปลอดภัย

สทน.จับมือกรมทรัพยากรธรณี หนุนศึกษาวิจัย ธาตุหายาก-ธาตุกัมมันตรังสี



สทน.บูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี พร้อมสนับสนุนการศึกษาวิจัยธาตุหายากและธาตุกัมมันตรังสี
เมื่อวันที่ 2 ก.ค.61 ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สทน.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับกรมทรัพยากรธรณี เพื่อประสานความร่วมมือบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการและสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านทรัพยากรธาตุหายากและธาตุกัมมันตรังสี ซากดึกดำบรรพ์ การจัดทำแผนที่ active Fault และวัสดุทนความร้อน การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ คิดว่าเป็นก้าวที่สำคัญของหน่วยงานในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 อยากจะเห็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ผนึกกำลังกัน แล้วก็มุ่งประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับการทำวิจัยพัฒนาแล้วก็เอาส่วนแข็งของแต่ละหน่วยงานมาร่วมกัน ทำให้เกิดอิมแพ็คในด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย ในการดำเนินงานเราก็จะมีการ Kick off ความร่วมมือที่ดำเนินต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นประเด็นหัวข้อวิจัยที่จะต้องเข้าไปช่วยกัน แนวทาง องค์ความรู้ทั้งหมดที่เราทำมาแชร์กันแล้วก็เอามา Spin off ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
ด้าน นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ คือ เป็นเรื่องภารกิจของ 2 หน่วยงาน ที่เห็นว่ามีการเชื่อมโยง เรื่องของกรมทรัพยากรธรณีเพื่อศึกษาวิจัยในด้านทรัพยากรธรณี เรื่องแร่ เรื่องการอนุรักษ์ 



อุตสาหกรรมโกจิเบอร์รีบริเวณที่ราบแอ่งกระทะไฉต๋ามู่ของจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว

อุตสาหกรรมโกจิเบอร์รีบริเวณที่ราบแอ่งกระทะไฉต๋ามู่ของจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว

เมื่อเร็วๆนี้ การประชุม Qaidam Se-enriched and Organic goji Forum ครั้งที่ 2 ได้เปิดฉากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ เมืองเต๋อหลิงฮา เขตปกครองตนเองทิเบตและมองโกเลียไห่ซี มณฑลชิงไห่ ประเทศจีน

ในการประชุมว่าด้วยโกจิเบอร์รี หรือ เก๋ากี้ ผลไม้ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุซีลีเนียม บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโกจิเบอร์รีบริเวณที่ราบแอ่งกระทะไฉต๋ามู่ ในมณฑลชิงไห่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน กำลังมีแนวโน้มฟื้นตัว เนื่องจากราคาโกจิเบอร์รีดีดตัวขึ้น

ที่ราบแอ่งกระทะไฉต๋ามู่เป็นแหล่งปลูกโกจิเบอร์รีที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ และเป็นพื้นที่ปลูกโกจิเบอร์รีที่สูงที่สุดในโลก โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบตและมองโกเลียไห่ซี ในมณฑลชิงไห่ ซึ่งได้รับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ มีอุณหภูมิกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมาก และมีผืนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุซีลีเนียม ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งในการปลูกโกจิเบอร์รีคุณภาพสูง

รายงานประจำปีของดัชนีราคาโกจิเบอร์รีซินหัว-ไฉต๋ามู่ ระบุว่า ราคาโกจิเบอร์รีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนปี 2558 ส่งผลให้ผลผลิตโกจิเบอร์รีบริเวณที่ราบแอ่งกระทะไฉต๋ามู่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนล้นตลาด และทำให้ราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลท้องถิ่นได้ประกาศนโยบายมากมายเพื่อพยุงอุตสาหกรรมโกจิเบอร์รี ซึ่งรวมถึงการจับมือกับ China Economic Information Service (CEIS) ของสำนักข่าวซินหัว เพื่อเปิดตัวดัชนีราคาโกจิเบอร์รีซินหัว-ไฉต๋ามู่ พร้อมกับจัดตั้งเขตสาธิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก การสร้างแบรนด์ รวมถึงการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของโกจิเบอร์รี เป็นต้น

หลังใช้เวลา 3-5 ปีในการปรับตัว ราคาโกจิเบอร์รีบริเวณที่ราบแอ่งกระทะไฉต๋ามู่ก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2562 และอาจมีแนวโน้มดีขึ้นอีกในฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้

ข้อมูลสถิติระบุว่า เขตปกครองตนเองทิเบตและมองโกเลียไห่ซีมีพื้นที่ปลูกโกจิเบอร์รีเกือบ 500,000 หมู่ (ราว 33,333.33 เฮกตาร์) มีผลผลิตโกจิเบอร์รีแห้งทะลุ 80,000 ตัน และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 2.416 พันล้านหยวน หรือพุ่งขึ้น 55 เท่า, 171 เท่า และ 73 เท่าตามลำดับเมื่อเทียบกับปี 2551

ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตปกครองตนเองทิเบตและมองโกเลียไห่ซี